History
วิทยาการเชิงคอมพิวเตอร์ หรือ Computational Science เป็นการนำการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์มาศึกษาวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ เคมี และ ชีววิทยา การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์สามารถแทนที่การทดลองบางอย่างได้ หรือ ทำให้สามารถศึกษาผลของทฤษฎีต่างๆ ได้ดีกว่าการวิเคราะห์ทางทฤษฎีเพียงอย่างเดียว วิศวกรรมเชิงคอมพิวเตอร์ก็เป็นการนำการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์มาใช้เช่นเดียวกัน แต่เป็นการนำมาเพื่อช่วยการศึกษาและออกแบบทางวิศกรรม วิทยาการและวิศวกรรมเชิงคอมพิวเตอร์สามารถช่วยให้งานวิจัยดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น กล่าวคือช่วยประหยัดงบประมาณในการวิจัย และ ช่วยให้เกิดความเข้าใจเชิงลึก นำไปสู่องค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาวิทยาการขั้นสูง

- ในประเทศไทย นักวิจัยในสาขาวิทยาการและวิศวกรรมเชิงคอมพิวเตอร์ ได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มนักวิจัยอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ราวปีพ.ศ. 2541 มีทั้งนักเคมีเชิงคำนวณ นักชีววิทยาเชิงคำนวณ นักฟิสิกส์เชิงคำนวณ นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่สนใจการวิจัยเพื่อสนับสนุนวิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการคำนวณสมรรถนะสูง หรือ high performance computing อีกด้วย

กลุ่มนักวิจัยนี้ได้มีการทำงานร่วมกัน เช่น การดำเนินโครงการวิจัยต่างๆ ร่วมกัน การจัดการสัมมนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานประชุมวิชาการ ANSCSE หรือ Annual Symposium on Computational Science and Engineering เป็นประจำทุกปี จนกระทั่งกลุ่มนักวิจัยมีการพัฒนาความร่วมมือกันมากขึ้น จึงเห็นสมควรที่จะมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างเป็นทางการในรูปแบบสมาคม จึงได้มีการประชุมเพื่อจัดตั้งสมาคมขึ้นและได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กันยายน 2550
Objective
สมาคมวิทยาการและวิศวกรรมเชิงคอมพิวเตอร์มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม การวิจัย การศึกษา การพัฒนาบุคลากร และความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และสถาบันต่าง ๆ ในสาขาวิทยาการและวิศวกรรมเชิงคอมพิวเตอร์ โดยนิยามของคำว่า วิทยาการและวิศวกรรมเชิงคอมพิวเตอร์ คือ ศาสตร์ที่นำคอมพิวเตอร์ การคำนวณเชิงตัวเลข และวิทยาการหลากสาขา เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือสำหรับการค้นคว้าดังกล่าว